ข้อมูลสำหรับคนที่ขับรถยนต์ต้องทราบ เป็นความรู้เบื้องต้นที่จะช่วยให้แก้ปัญหาเบื้องต้นแล้วไปต่อเมื่อต้องอยู่ในที่ตามช่างได้ยาก ว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้รถสตาร์ทไม่ติด ด้วยความห่วงใยอยากให้การเดินทางด้วยรถยนต์ราบรื่นไม่มีสะดุด ต้องรู้

วิธีแก้ป้ญหา รถสตาร์ทไม่ติด ต้องเช็ค อะไรบ้างเมื่อรถสตาร์ทไม่ติด
- แบตเตอรี่
- มอเตอร์สตาร์ท
- ไดชาร์จ
- ปั๊มติ๊ก
1. แบตเตอรี่รถยนต์ เป็นแหล่งกำเนิดพลังงานที่ส่งจ่ายไปตามเครื่องยนต์และอุปกรณ์เสริมในรถที่ใช้ไฟทุกประเภท เพราะพลังงานจากแบตเตอรี่ทำให้เครื่องยนต์ของเราสตาร์ทติดได้ และยังป้อนพลังงานให้กับอุปกรณ์อำนวยความสะดวกภายในรถอีกด้วย เช่น ระบบปรับอากาศ ไฟเลี้ยว ไฟท้าย ไฟเบรก ไฟหน้า กระจกไฟฟ้า เมื่อรถสตาร์ทไม่ติดให้เช็คจุดนี้ก่อนเลยว่ามีไฟพอหรือไม่ หรือว่าขั่วแบตไม่หลวมซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้รถสตาร์ทไม่ติด เบื้องต้นอาจจะลองพ่วงแบตดูก่อนได้
ถ้าแบตเตอรี่รถยนต์ใกล้หมด
- เครื่องยนต์เริ่มสตาร์ทติดยาก เราจะรู้สึกว่าเครื่องยนต์จะหมุนเหมือนไม่ค่อยมีกำลัง หรือตอนสตาร์ทจะอืดๆ ก่อนจะสตาร์ทติดปกติ
- ดับเครื่องแล้วสตาร์ทใหม่ทันที หรือทิ้งไว้สักครู่แล้วกลับมาสตาร์ทอีกครั้ง จะสตาร์ทติดยาก หรือไม่อาจจะมีอาการสตาร์ทติดยากในตอนเช้า
- ต้องเติมน้ำกลั่นอยู่บ่อยๆ ในกรณีที่คนใช้ แบตเตอรี่ เปียก
- การทำงานของกระจกไฟฟ้า หรือระบบล็อคประตูจะทำงานอืดกว่าปกติ
- ระบบไฟหน้าไม่สว่างเหมือนเดิม
- มีการพ่วง แบตเตอรี่ ชาร์จในบางครั้ง ในกรณีแบบนี้ ควรรีบเปลี่ยน แบตเตอรี่ รถยนต์โดยด่วน เพราะไม่เช่นนั้นคุณจะลำบากแน่นอน ถ้าเกิดรถสตาร์ทไม่ติดกลางทาง
2.มอเตอร์สตาร์ท เสียมีอาการแบบไหน ถึงแม้ว่าแบตเตอรี่ยังมีไฟอยู่ ก็สตาร์ทไม่ติด
อาการของ ไดสตาร์ท เสีย มีดังนี้
หมุนกุญแจ หรือกดปุ่มสตาร์ทแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้น (เงียบ)
อาการนี้บ่งบอกได้เลยว่า ไดสตาร์ท ของคุณเสียซะแล้ว เตรียมเงินไว้ได้เลย ซึ่งหากสตาร์ทไม่ติดตอนที่อยู่ที่บ้านก็ถือว่าโชคดีมาก แต่ถ้าอยู่ข้างนอก หรืออยู่ระหว่างเดินทาง บิดหรือกดปุ่มสตาร์ทแล้วเงียบ สัก 2-3 ครั้ง ให้ตั้งสติก่อน จากนั้นค่อย บิดหรือกดปุ่มสตาร์ทแบบเร็วๆ ถ้าเครื่องยนต์ติดก็ถือว่าคุณโชคดีมาก แล้วไม่ควรจอดแวะที่ไหน นอกจากกลับบ้านอย่างเดียว (ต้องบอกก่อนว่าอาจจะได้ผลไม่ทุกคัน)
หลังจากสตาร์ทติด มีเสียงผิดปกติ เสียงครืดคราด
ถ้ามีอาการแบบนี้ ควรรีบไปตรวจสอบโดยด่วนว่า ไดสตาร์ท มีปัญหาหรือไม่
แปรงถ่านในตัวไดสตาร์ทอาจจะหมด หรือใกล้จะหมด
อย่างไรก็ตามถ้าใครที่เกิดเหตุการณ์ ไดสตาร์ท เสียหรือไม่ทำงาน คุณอาจจะต้องนำรถยนต์ของคุณเข้าศูนย์บริการรถยนต์หรืออู่ เพื่อให้ช่างที่ชำนาญได้ตรวจสอบ หรือแก้ไขซ่อมแซปัญหา ไดสตาร์ท ให้คุณได้ แต่ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินจริงๆ คุณก็สามารถแก้ไขปัญหากรณี ไดสตาร์ท เสีย ง่ายๆ ด้วยตัวเองได้
- ลองสตาร์ทเครื่องยนต์แบบเร็วๆ อย่างที่บอกข้อนี้อาจจะไม่ได้ผลกับรถยนต์ทุกคัน
- หากเป็นเกียร์ธรรมดา ให้ใช้วิธีเข็น
- โดยใส่เกียร์ 1 ค้างไว้ เหยียบคลัตซ์ และบิดกุญแจไปตำแหน่งขวาสุด เพื่อให้ไฟหน้าปัดแสดง เมื่อเข็นจนได้ความเร็วพอสมควรแล้ว ให้ปล่อยคลัตซ์ จากนั้นเหยียบคันเร่ง หลังจากที่เครื่องยนต์ติดแล้วให้แตะเบรกไว้ จากนั้นก็ขับรถเข้าศูนย์บริการหรืออู่ทันที
- ใช้โลหะเคาะไปที่ไดสตาร์ท
หากรถยนต์เป็นเกียร์ออโต้หรือไปคนเดียวโดยไม่มีคนช่วยเข็น อาจะจำเป็นต้องใช้โลหะ เช่น แม่แรงหรือประแจถอดล้อ ฯลฯ เอามาเคาะหรืกะทุ้งไปที่ตัว ไดสตาร์ท อย่างเบาๆ สัก 3-4 ครั้ง ตรงตำแหน่งทรงกลมสีดำที่มีสติ๊กเกอร์สีบรอนซ์ติดอยู่ แล้วกลับไปสตาร์ทอีกครั้งหนึ่ง เพราะมันอาจจะแค่สกปรกก็ได้ จากนั้นเครื่องยนต์ก็จะสตาร์ทแบบปกติ
3.ไดชาร์จ (Alternator) ทำหน้าที่เป็นตัวผลิตไฟฟ้า โดยอาศัยกำลังเครื่องยนต์ส่งกำลังจากพูลเลย์ (Pulley) ข้อเหวี่ยงผ่านสายพาน มาขับเคลื่อนให้ไดชาร์จหมุน เพื่อปั่นกระแสไฟออกมาใช้ในรถยนต์
ปกติแล้วเมื่อไดชาร์จเสีย จะมีสัญญาณส่งออกมาว่าไดชาร์จกำลังจะเสื่อมก็คือ ไฟในรถเริ่มอ่อนลง เช่น ไฟหน้าเริ่มหรี่ แอร์เริ่มเย็นน้อยลง บางทีจะมีอาการความร้อนขึ้นเพราะพัดลมไฟฟ้าหมุนไม่แรงพอ เครื่องเริ่มเร่งแย่ลง สังเกตง่ายๆ ถ้ารอบเดินเบามีอาการไฟเหี่ยว ต้องเร่งเครื่อง ไฟถึงจะชาร์จมากขึ้น มีอาการวูบๆ วาบๆ ก็ควรจะตรวจเช็กไดชาร์จและระบบไฟโดยรวมได้แล้ว
ถ้าไดชาร์จไม่พอหรือเสีย ไม่ชาร์จเลย จะมีไฟรูปแบตเตอรี่ขึ้นที่หน้าปัด ถ้าโชว์ก็แสดงว่าเสื่อม ควรจะรีบนำรถเข้าเช็ก พยายามปิดอุปกรณ์กินไฟต่างๆ เช่น แอร์ เพื่อประหยัดไฟให้พอใช้ในการขับไปซ่อม
4.ปั๊มติ๊ก เป็นระบบน้ำมันของเชื้อเพลิงใช้ตัดต่อกระแสไฟฟ้าเพื่อป้อนให้กับขดลวดแม่เหล็กไฟฟ้า ทำให้แผ่นไดอะแฟรมขยับ ทำงานเชื่อมต่อเข้ากับชุดลิ้นปิด-เปิด จึงมีแรงดันและแรงดูด สูบ-จ่าย น้ำมันเชื้อเพลิง แต่เครื่องยนต์ปัจจุบันที่ใช้ระบบหัวฉีดมีความต้องการแรงดันที่สูงขึ้น จึงเปลี่ยนมาเป็นระบบปั๊มติ๊กไฟฟ้าโดยมีทั้งแบบ เรกกูเรเตอร์ (อยู่ในถังน้ำมัน) และแบบใช้ ECU เป็นตัวควบคุมแรงดันไฟฟ้ามี 40-50 psi
อาการ “ปั๊มติ๊ก” เสื่อมสภาพ
- ไม่มีเสียงดัง ติ๊กๆ ก่อนสตาร์ทเครื่องยนต์ (รถรุ่นเก่า)
- รถสตาร์ทไม่ติด (เช็กแบตเตอรี่เต็ม ไดร์สตาร์ทดัง ฟิวส์ไม่ขาด)
- สตาร์ทรถแล้วเครื่องยนต์กระตุก หรือเร่งไม่ขึ้น
- เครื่องยนต์สะดุด ขณะขับรถที่ความเร็วคงที่
- รถติดแก๊ส สตาร์ทน้ำมันไม่ติด สตาร์ทแก๊สติด
วิธีรักษา “ปั๊มติ๊ก” ไม่ให้เสื่อมเร็ว
- ไม่ปล่อยให้ไฟระบบแสดงน้ำมันแจ้งเตือนบ่อย
- เติมน้ำมันให้เกือบครึ่งถังอยู่เสมอ
- รถติดแก๊ส หมั่นใช้ระบบน้ำมันบ่อยๆ
หากรถคุณแสดงอาการดังที่กล่าวมาแนะนำว่าให้เข้าไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรืออู่ซ่อมได้มาตรฐาน