โช๊คอัพ นับเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งของรถยนต์ เพราะจะช่วยรองรับ ดูดซับแรงกระแทก และช่วยลดแรงสั่นสะเทือนของรถ จากการขับขี่ในทุกสภาพถนน วันนี้เราจึงนำรายละเอียด และประเภทของ โช้คอัพ มาให้ชมกันอย่างละเอียด
โช๊คอัพ แบบต่างๆ

โช๊คอัพระบบน้ำมัน จะทำงานด้วยระบบไฮดรอลิค ซึ่งขณะที่โช๊คอัพทำงาน น้ำมันไฮดรอลิคจะไหลผ่านวาล์วภายในลูกสูบ จึงทำให้เกิดฟองอากาศขึ้นภายในน้ำมันไฮดรอลิค แต่ถ้าฟองอากาศเกิดแตกขึ้น จะทำให้โช้คอัพเกิดการขาดช่วงการทำงานในช่วงสั้นๆ ซึ่งเป็นเหตุให้รถยนต์เสียอาการได้ในย่านความเร็วสูง

โช๊คอัพระบบแก๊ส เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างแก๊สไนโตรเจน และน้ำมันไฮดรอลิค ซึ่งเมื่อโช้คอัพทำงาน ลูกสูบของโช้คอัพ จะทำการเลื่อนตัวลงมาด้านล่างของกระบอกลูกสูบ ทำให้น้ำมันไฮดรอลิคที่อยู่ในกระบอกสูบ ไหลผ่านวาล์วขึ้นไปยังห้องน้ำมันด้านบน ส่วนน้ำมันอีกจำนวนหนึ่งจะไหลผ่านวาลว์ด้านล่างเข้าไปในห้องน้ำมันสำรอง หลังจากนั้นจะทำการอัดแก๊สไนโตรเจนให้เกิดแรงดัน เพื่อดันน้ำมันไฮโดรลิคกลับเข้าสู่กระบอกลูกสูบ ทั้งนี โช๊คอัพระบบแก๊ส จะแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ
- LOW-PRESSURE GAS SHOCK ABSORBER หรือโช๊คอัพแก๊สแรงดันต่ำ ที่จะมีการอัดแรงดันไว้ประมาณ 10 – 15 กก./ตาราง ซม. หรือ 142 – 213 ปอนด์/ตารางนิ้ว
- HI-PRESSURE GAS SHOCK ABSORBER หรือโช๊คอัพแก๊สแรงดันสูง ซึ่งโช๊คอัพประเภทนี้จะไม่มีห้องน้ำมันสำรอง แต่จะเก็บน้ำมันไฮดรอลิคไว้ด้านบนของกระบอกสูบ และจะอัดแก๊สไนโตรเจนที่ด้านล่างของกระบอกสูบ โดยจะมีแรงดันอยู่ที่ 20-30 กก/ตาราง ซม. หรือประมาณ 284-427 ปอนด์/ตารางนิ้ว
วิธีการตรวจสอบสภาพของโช๊คอัพ

โช๊คอัพที่เสื่อมสภาพจะมีหน้ายางที่สึกเป็นช่วงๆ โดยรอบ ให้คุณใช้มือกดบริเวณด้านบนของบังโคลนที่ด้านหน้า และด้านหลังหลายๆ ครั้ง แล้วปล่อยมือบริเวณที่กดออก ถ้าเกิดมีการเด้งหลายๆ ครั้ง แสดงว่าโช๊คอัพนั้นชำรุด หรือขณะที่ขับรถผ่านทางขรุขระหรือทางลูกรัง รถจะมีอาการโยนตัว และทรงตัวได้ไม่ดี หรือไม่ก็ให้สังเกตที่โช้คอัพว่ามีคราบน้ำมันไหลออกมาหรือไม่ เพราะคราบน้ำมันนี้อาจจะมาจากสารหล่อลื่นของโช๊คอัพ ถ้าเช็ดแล้วมีคราบน้ำมันอีกก็แสดงว่าโช๊คอัพชำรุด ควรรีบซ่อม หรือเปลี่ยนโดยด่วน